calendar

พิพิธภัณฑ์ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์

| |


ในยุคดึกดำบรรพ์ ภาคอีสานเคยเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ มีการค้นพบฟอสซิลของสัตว์โลกยุคโบราณ ซึ่งหลายชนิดเป็นพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งพบเจอเป็นครั้งแรกของโลก โดยเฉพาะภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์กินพืชตระกูลซอโรพอดส์ ซึ่งพบหลายซากในเขตจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะบริเวณ ภูกุ้มข้าว ในวัดสักกะวัน อำเภอสหัสขันธ์ ขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดนี้ถึง 8 ซากภายในหลุมเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2537 นับเป็นหลุมขุดค้นที่มีซากไดโนเสาร์รวมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการค้นพบซากรอยเท้าไดโนเสาร์เป็นจำนวนกว่า 20 แห่ง และที่พบซากไดโนเสาร์มี 3 คือ ภูกุ้มข้าว ภูปอ และภูผางัว การค้นพบซากไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าวเป็นการพบโดยบังเอิญ เจ้าอาวาสวัดสักกะวันพบชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ แต่เข้าใจว่าเป็นแท่งไม้ที่กลายเป็นหิน จึงไม่ได้ใส่ใจอะไร จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีและนักวิชาการขอนำไปศึกษา ความจึงปรากฎว่าเป็นกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ และมีการขุดพบซากไดโนเสาร์ชนิดกินพืช จำนวนมากกว่า 600 ชิ้น ในปี พ.ศ. 2537 สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 130 ล้านปี
ภูกุ้มข้าว อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นภูเขาเดี่ยวในพื้นที่ ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบได้เป็นอย่างดี นับจากปี พ.ศ. 2537 ได้มีการพัฒนาพื้นที่ ภูกุ้มข้าว เรื่อยมา ได้แก่ การสร้างอาคารคลุมหลุมขุด อาคารปฏิบัติการ อุทยานสัตว์โลกล้านปี ภูกุ้มข้าว พิพิธภัณฑ์ การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ถนนและลานจอดรถ รวมถึงการปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศ ปัจจุบันยังคงมีการดำเนินการขุดค้นและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง
สินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP)
ผ้าไหมแพรวาผู้ไทย ทอจากไหมด้วยลายมัดหมี่ที่ละเอียดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นงานฝีมือของชาวผู้ไทยบ้านโพน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสนับสนุนจนเป็นที่แพร่หลาย หาชมและเลือกซื้อได้ที่ศูนย์วิจิตรแพรวา บ้านโพน อำเภอคำม่วง โทรศัพท์ 0 4385 6101

การเดินทาง
ใช้เส้นทางสายกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ถึง กิโลเมตรที่ 28 แยกตรงโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษาไปอีก 2 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปวัดสักกะวัน อีก 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 30 กิโลเมตร
ข้อมูลการติดต่อ
สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 3 โทรศัพท์ 0 4324 4498-9 หรือ ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว 0 4387 1074 ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว ( Call Center) 1147

ข้อแนะนำ
หลุมขุดค้นอยู่ห่างจากโบสถ์วัดสักกะวันเพียง 150 เมตร กรมทรัพยากรธรณีสร้างอาคารครอบหลุมไว้ ภายในแสดงข้อมูลชนิดและแหล่งที่พบไดโนเสาร์ในประเทศไทยอย่างละเอียด เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 นาฬิกา ใกล้กันมีอาคารพิพิธภัณฑ์โบราณชีววิทยา ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาเรื่องโบราณชีววิทยาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้